ข้อควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม
1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา ดังนั้น จึงไม่สามารถรักษา หรือบรรเทาโรคใดๆ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานภายในร่างกาย หรือ ช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายได้
2. ห้ามมิให้โฆษณาเผยแพร่ในเชิงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สามารถรักษาหรือบรรเทาโรคใด ๆ
3. ต้องไม่โฆษณาโดยทำให้เข้าใจว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเพียงอย่างเดียว
จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้ แต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะต้องบริโภคอาหารหลักให้ครบส่วน
รวมทั้งการออกกำลังกายและการพักผ่อนที่เหมาะสมด้วย
4. ไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างหรือรับรองคุณภาพคุณประโยชน์โดยบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ
5. การโฆษณาโดยการแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิด ที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น สามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง
6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดมีการแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ หรือกระทำการโฆษณา
โดยกล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมการขาย ต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก
เพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย
7. ต้องไม่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก หรือสามารถใช้ลดน้ำหนักได้
8. การที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับอนุญาตให้จำหน่าย จาก อย.แล้ว แสดงว่า อย. รับรองเฉพาะสรรพคุณตามที่ขออนุญาต ซึ่งกำหนดให้ระบุบนฉลาก ผู้บริโภคจึงควรศึกษารายละเอียด บนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง
ฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่
1. ชื่ออาหาร
2. เลขสารบบอาหารในเครื่องหมาย อย.
3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า (ในผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย)
4. ปริมาณสุทธิ
5. ส่วนประกอบสำคัญ
6. วันเดือนปีที่ผลิต และ วันเดือนปีที่หมดอายุ โดยมีคำว่า ”ผลิต “ และ ”หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กำกับไว้ด้วย
7. คำแนะนำในการเก็บรักษา
8. ในกรณีที่มีการเจือสี แต่งกลิ่นรส ใช้วัตถุกันเสีย วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร หรือ
วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ต้องระบุบนฉลากด้วย
ข้อสังเกตก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากจะเลือกสารอาหารตามอาการ ที่เรามี หรือสารอาหารที่เราต้องการ แล้ว เรายังคงจะต้อง ตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อเพิ่มเติมอีก คือ
1. เปรียบเทียบข้อมูลโฆษณาที่ได้รับกับฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างกล่องหรือขวด ถ้าไม่ตรงกันก็ควรหลีกเลี่ยง หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจซื้อ
2. สังเกตฉลากเพื่อหาข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรค โดยถ้าพบผลิตภัณฑ์ใดแสดงเครื่อง-หมาย "อย." บนฉลาก แสดงว่าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในรูปของอาหาร จึงไม่สามารถรักษาโรคใด ๆ ได้ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก แต่จะแสดงเป็นเลข-ทะเบียนตำรับยาระบุบนฉลากแทน
ลักษณะของเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงบนฉลาก ตัวอย่างเช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1 A 9999/46 หรือ เลขทะเบียนที่ 1 G 3996/ 44 หรือ Reg.No. 1K 3333/28 เป็นต้น
3. ข้อความโฆษณาต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา ลักษณะของเลขอนุญาตโฆษณา ตัวอย่างเช่น ฆอ.9988/2543 หรือ ฆอ. 10200/2546 เป็นต้น ซึ่งรวมถึงคำพูดที่ผู้จำหน่ายอธิบายประกอบการขายผลิตภัณฑ์ ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วน จาก http://www.oryor.com/
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น